Antarctic voyages by Araon

เขียนโดย อัจฉราภรณ์ ผักหวาน

ในปลายปี 2023 อัจฉราภรณ์ ผักหวาน หรือ อิ้งค์ ได้มีโอกาสเดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติกากับเรือตัดน้ำแข็งเกาหลีใต้ Araon เพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศ โดยในการวิจัยในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของสถาบันวิจัยในไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยต่างๆ ของเกาหลีใต้  ได้แก่ Korea Polar Research Institute (KOPRI), Korea Astronomy and Space Science Institute (KASI) และ Chonnam National University โดยเราทำการส่งเครื่องมือตรวจวัดอนุภาคนิวตรอน บรรจุในคอนเทนเนอร์ฉนวน เรียกว่า “Changvan” นำไปติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง แล้วทำการตรวจวัด ณ ตำแหน่งต่างๆ ในแต่ละละติจูดตั้งแต่ 75°S (Antarctica) ไปยัง 30°N (South Korea) เราเรียกการศึกษาแบบนี้ว่า การสำรวจตัดข้ามละติจูด (Latitude Survey) เพื่อการศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลก โดยการเดินทางทั้งหมดใช้ระยะเวลา 4 เดือนเต็ม ในการใช้ชีวิตบนเรือตัดน้ำแข็ง โดยเส้นทางการเดินทางแบ่งออกเป็น 3 รอบการเดินเรือ 

รอบที่ 1 เดินทางจากประเทศนิวซีแลนด์ ไปยัง แอนตาร์กติกา บริเวณ Amundsen Sea ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทวีป ระยะเวลาสำรวจประมาณ 20 วันจากนั้นเดินทางกลับไปยังนิวซีแลนด์

รอบที่ 2 จากนิวซีแลนด์ ไปยังแอนตาร์กติกาบริเวณ Ross Sea และไปยัง สถานี Jang Bogo ซึ่งเป็นสถานีประจำประเทศเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่บนทวีปแอนตาร์กติกา และเดินทางกลับมายังนิวซีแลนด์

รอบที่ 3 เดินทางออกจากนิวซีแลนด์ ไปยังประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้เป็นการเดินทางครั้งสำคัญที่สุดในการเก็บข้อมูล เพราะเรือตัดน้ำแข็งทำการตัดข้ามละติจูดมากที่สุด

เรือตัดน้ำแข็ง Araon ของสถาบันขั้วโลกเกาหลี Korean Polar Research Institute (KOPRI) ขณะจอด ใกล้กับ Canisteo Peninsula บริเวณ Amundsen Sea, Antarctica โดยมี Changvan อยู่ด้านหน้าของเรือ
เรือตัดน้ำแข็ง Araon ของ Korean Polar Research Institute (KOPRI) ขณะจอด ใกล้กับ Canisteo Peninsula บริเวณ Amundsen Sea, Antarctica โดยมี Changvan อยู่ด้านหน้าของเรือ

นี่เป็นครั้งแรกของอิ้งค์ที่ได้เดินทางและใช้ชีวิตบนเรือขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิต ก่อนการขึ้นเรือตัดน้ำแข็งอิ้งค์ต้องสอบ STCW ซึ่งย่อมาจาก Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers เป็นการอบรมพื้นฐานเพื่อความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน หรือในเวลาที่เกิดเหตุการณ์อันตรายขึ้น โดยวิชาที่สำคัญคือ Personal Survival Technique หรือการเอาชีวิตรอดบนเรือ โดยจะต้องผ่านการสอบปฎิบัติก่อน ถึงจะสามารถขึ้นเรือได้ และการตรวจร่างกายและตอบคำถามสุขภาพตามที่เรือได้กำหนดไว้ การขึ้นเรือครั้งแรกนี้เรียกได้ว่าเป็นการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นมาก ด่านแรกที่เจอคือคลื่นมหาสมุทร Southern Ocean แม้ว่ากัปตันจะพาเราไปยังเส้นทางที่ดีที่สุดแล้ว เราก็ยังหนีไม่พ้นคลื่นทะเล ความสูงคลื่นอยู่ที่ประมาณ 5 เมตร เป็นอย่างต่ำ อิ้งค์บ่นเวียนหัวและเรือเอียงไปเอียงมาเป็นอย่างมาก แต่พอเราไปถามคนเรือ เขาก็ตอบกลับมาว่า “This is so normal, it is not so strong waves, you guys so lucky for this cruise!”

เราเดินทางมาเรื่อยๆ เริ่มจะเห็นน้ำแข็งบ้างแล้ว ตอนเจอภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ก้อนแรก ทุกคนตื่นเต้นกันใหญ่ เป็นสัญญาณบอกว่า เรามาถึงแอนตาร์กติกแล้ว จากนั้น น้ำในทะเลเริ่มเห็นเป็นน้ำแข็ง เริ่มจาก แผ่นน้ำแข็งเล็กๆ แบบกระจายตัว เป็นหย่อมๆ จากนั้นเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนเห็นเป็นแผ่นน้ำแข็งทั่วทั้งทะเล เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง พอเราเริ่มเห็นน้ำแข็งแผ่นหนาๆ เราก็จะพบเจอแพนกวิ้นหรือแมวน้ำอาศัยอยู่บนแผ่นน้ำแข็งนั้น อุณหภูมิภายนอกเริ่มต่ำลงจนถึงคงที่ประมาณ -2°c แต่ภายในเรือสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างดีมาก Maja รูมเมท ถามทุกคนในห้องว่า “ทุกคนรู้สึกร้อนหรือป่าว ฉันรู้สึกว่าในห้องของเราร้อนมากเลย” อิ้งค์ตอบกลับไปว่า “ไม่นะ ฉันรู้สึกหนาวนิดนึง” จากนั้น Maja ก็เอาเทอร์โมมิเตอร์ออกมาแล้วบอกว่า “Ink!, It’s 29” ฉันชักไม่แน่ใจว่าที่ทำให้รู้สึกหนาวในตอนนั้นเป็นเพราะ บรรยากาศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งข้างนอกหน้าต่างหรือป่าว แต่ก็มั่นใจว่าฉันไม่ได้ป่วยแน่นอน

ในแต่ละวันบนเรือตัดน้ำแข็งอิ้งค์ได้รับมอบหมายให้ดูแลและตรวจสอบการทำงานของเครื่องตรวจวัดนิวตรอนช้างแวน โดยมีลักษณะเป็นคอนเทนเนอร์ฉนวน มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใน ได้แก่ บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการเก็บสัญญาณและส่งไปยัง คอมพิวเตอร์เพื่อเก็บข้อมูลเป็นรายนาที เครื่องดูดความชื้น ฮีทเตอร์และเครื่องปรับอากาศในการควบคุมอุณหภูมิ และนิวตรอนมอนิเตอร์ Neutron Monitor แบบ NM64 จำนวน 3 หน่วย เรียกเป็น “3NM64” ตัวเครื่องตรวจวัดจะทำการวัดอนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้นจากอนุภาครังสีคอสมิกที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลกแล้วเกิดการชนกับอะตอมในชั้นบรรยากาศแล้วแตกตัวเป็นอนุภาคย่อย นิวตรอนเป็นหนึ่งในอนุภาคย่อยเหล่านั้นที่สามารถตรวจวัดได้ที่พื้นโลก ตำแหน่งที่แตกต่างกันบนโลกมีการวัดค่าอนุภาคนิวตรอนได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สนามแม่เหล็กโลก สภาพแวดล้อม ค่าความสูงตำแหน่งที่ตั้ง การสำรวจตัดข้ามละติจูดทำให้เราได้ข้อมูลจากหลายตำแหน่งตามแต่ละละติจูด  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการหาสเปกตรัมของรังสีคอสมิก เมื่อเครื่องตรวจวัดอยู่บนเรือที่เคลื่อนที่แล้วเราจึงต้องตรวจสอบการทำงานของเครื่องตรวจวัดบ่อยครั้งเพื่อป้องกันการผิดพลาดของการเก็บข้อมูล เพราะเมื่อเรือเคลื่อนที่ตำแหน่งละติจูดจะเปลี่ยนไป ค่าอัตราการนับของเครื่องตรวจวัดนิวตรอนก็จะเปลี่ยนไป แปรผกผันกับค่า Geomagnetic Cutoff Rigidity ที่เป็นผลมาจากสนามแม่เหล็กของโลก อิ้งค์จึงมีหน้าที่คอยทำการตรวจเช็คการทำงานของอุปกรณ์ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ ทำการเก็บข้อมูลจากการตรวจวัดอนุภาคของเครื่องตรวจวัดแบบรายวัน และซ่อมแซมเครื่องตรวจวัดเมื่อจำเป็น 

ในสัปดาห์แรกของการเดินทางไปยังแอนตาร์กติกา เริ่มออกเรือจากท่าเรือ Lyttelton ประเทศ New Zealand เกิดปัญหาเครื่องตรวจวัดไม่สามารถทำงานได้ เกิดความเสียหายเนื่องมาจากการขนส่ง Changvan จากประเทศไทย มายังท่าเรือที่นิวซีแลนด์ ทำให้เครื่องตรวจวัดไม่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้สึกในตอนนั้นแย่มาก ทั้งความกดดัน ความเครียด และอาการเมาเรือ แต่ยังโชคดีที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพียงเล็กน้อยที่สามารถส่งข้อความได้ และมือถือสัญญาณดาวเทียม ใช้ติดต่ออาจารย์และนักวิจัยในไทยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา จึงพบว่ามีอิเล็กทรอนิกส์บอร์ดพัง 1 ชิ้น และเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีสแปร์ไว้ จึงต้องทำการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จนในที่สุดเครื่องตรวจวัดก็กลับมาทำงานได้ ซึ่งบอร์ดอันใหม่จะถูกส่งมาจาก University of Delaware ซึ่งเราจะได้รับตอนกลับไปนิวซีแลนด์อีกครั้งในการเดินทางรอบที่ 2

ลักษณะห้องนอนในเรือจะเป็นเตียง 2 ชั้น อิ้งค์มีรูมเมท 3 คน มาจากสวีเดน University of Gothenburg ชื่อว่า Maja Stina และ Xiaohan อิ้งค์สนิทสนมกับ Xiaohan เป็นพิเศษเพราะคุยกันถูกคอและมักจะมีความนิสัยเอเชียคล้ายกันเพราะ Xiaohan มาจากประเทศจีนแต่ไปแลกเปลี่ยนที่สวีเดน เราคุยกันทุกเรื่องและชอบร้องเพลงด้วยกัน เนื่องจากอิ้งค์ชอบฟังเพลงแนว classic rock แล้วเปิดฟังบ่อยๆ Xiaohan ก็ชอบเหมือนกันจึงกลายเป็นแฟนเพลง Gun n Rosses และ Aerosmith ไปโดยปริยาย และเพลงที่เราชอบร้องด้วยกันมากที่สุดก็คือ Dream on ของ Aerosmith งานหลักๆ ของ Xiaohan เป็นการสำรวจลักษณะทางกายภาพของน้ำแข็งโดยใจโรนถ่ายภาพ และเปลียบเทียบข้อมูลกับภาพถ่ายจากดาวเทียม บ่อยครั้งที่เราออกไปช่วย Xiaohan ทำการสำรวจโดยโดรน

ในทุกวันนักวิจัยบนเรือ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หลังจากการรับประทานอาหารเย็น จะมีการประชุมเพื่อรายงานผลการทดลองของแต่ละกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนความรู้และ ขอความช่วยเหลือระหว่างกลุ่ม เราจึงได้มีโอกาสนี้เรียนรู้การทำงานวิจัยของกลุ่มอื่นมากขึ้น นอกจากการทำงานแล้วในเวลาว่างบนเรือ อิ้งค์ได้ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และออกกำลังกาย โดยกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือการเล่นปิงปอง ก่อนหน้านี้อิ้งค์เล่นปิงปองไม่เป็นเลย แต่มีเพื่อนบนเรือช่วยสอน จนตอนนี้ อิ้งค์สามารถเล่นปิงปองแข่งกับเพื่อนได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้พบปะสังสรรค์ และออกกำลังกายไปในตัว

วันนี้เพื่อนสวีดิชชวนมาทำเบอเกอรี่ เรียกว่า “Semla” ซึ่งเป็นขนมหวานยอดนิยมของประเทศสวีเดน ที่นิยมรับประทานกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเวลาตอนนั้นตรงกับเทศกาลของขนมเซมล่า และเป็นวันอังคาร ที่คนสวีดิชเรียว่าเป็น “Fat Tuesday”

นอกจากนั้นยังมีบราวน์นี่ฉบับหน้าเอียงที่เป็นผลมาจากการโคลงเคลงของเรือที่กำลังล่องในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้อีกด้วย

ในระหว่างการสำรวจน่านน้ำ Amundsen เรือได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือที่ส่งมาจากเรือประมงที่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เป็นเรือประมงของประเทศ Uruguay ส่วนใหญ่เรือประมงแถบแอนตาร์กติก จะหาจับปลา Antarctic toothfish เพราะมีราคาดี โดยทางเรือประมงขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ เพราะมีชาวประมงคนหนึ่งเกิดชักกระทันหันและเป็นอัมพาตครึ่งซีก เรือประมงไม่มีห้องพยาบาลหรือแม้แต่ยาที่เจาะจงโรคเช่นนั้น อีกทั้งการเดินทางไปยัง Mcmurdo ก็เป็นเรื่องที่ยากเพราะไม่ได้เป็นเรือที่สามารถตัดน้ำแข็งได้ ทางทีม Araon ได้ส่งคนไปช่วย 5 คน โดยมีนักวิจัยที่อาสาสมัครเป็นล่ามแปลภาษา นักวิจัยชาวชิลี 1 คน นักวิจัยเกาหลี 1 คน คุณหมอ และ ลูกเรืออีก 2 คน ในตอนแรก หัวหน้านักวิจัยได้แจ้งทุกคนว่า ถ้าเราช่วยเหลือไม่สำเร็จ เราต้องพาผู้ป่วยไปยัง Mcmurdo ให้เร็วที่สุด โดยจะต้องยกเลิกแผนการสำรวจของอาทิตย์สุดท้ายนี้ ทุกคนต่างกังวลและเตรียมวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่ในที่สุดคุณหมอก็สามารถแก้สถานการณ์ได้ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและเรือประมงเดินทางกลับไปยัง Uruguay โดยสวัสดิภาพ

ในการล่องเรือรอบที่ 2 อิ้งค์ได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม สถานี Jang Bogo ซึ่งเป็นสถานีแห่งที่ 2 ของเกาหลีใต้ ที่ตั้งอยู่บริเวณ Terra Nova Bay, Antarctica เนื่องจากเรือ Araon มีภารกิจรับนักวิจัยที่อาศัยอยู่ที่สถานีในช่วงฤดูร้อน เพื่อเดินทางกลับ ในการเดินทางไปยังสถานีจำเป็นจะต้องโดยสารโดยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น การเดินทางไปยังสถานีจึงจำกัดคน แต่โชคดีที่เราได้ทำการขออนุญาตเข้าไปเยี่ยมชม หัวหน้านักวิจัยจึงพาเราไปที่นั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก โดยผู้เดินทางมีเพียง 5 คนเท่านั้น ได้แก่ หัวหน้านักวิจัย นักวิจัย 2 คน หมอ และ ผู้ช่วยต้นเรือ บรรยากาศที่สถานีค่อนข้างเงียบ มีนักวิจัยประมาณ 50 คน แบ่งเป็น นักวิจัยช่วงฤดูร้อน (Summer over, Oct – Mar) ประมาณ 30 คน และ นักวิจัยช่วงฤดูหนาว (Winter over) 20 คน ภายในสถานี ก็จะมีห้องแลปต่างๆ เช่น ห้องแลป Geology, Geophysics, Atmospheric Science และ Biology

สถานีวิจัย Jang Bogo สถานีวิจัยทวีปแอนตาร์กติกาของประเทศเกาหลีใต้
ภูเขาไฟ Melbourne ที่ตั้งอยู่บริเวณ Terra Nova Bay เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลัง สามารถสังเกตได้ชัดจากสถานี Jang Bogo

บริเวณศึกษาวิจัยในครั้งนี้ อยู่บริเวณ Ross Sea และ Ross Island ทางตะวันออกของแอนตาร์กติกา อุณหภูมิเริ่มลดลง อยู่ที่ประมาณ -20°c

ในที่สุดก็เดินทางมาถึงรอบสุดท้ายของการเดินเรือแล้ว โดยต้องขึ้นเรือจาก Lyttelton ไปยังท่าเรือ Gwangyang ประเทศเกาหลีใต้ นับว่าเป็นรอบที่สำคัญที่สุด เพราะเรือจะเคลื่อนที่ตัดข้ามละติจูดได้มากที่สุดซึ่งเราต้องการข้อมูลที่สำคัญนี้ การเดินเรือรอบนี้เป็นไปแบบสบายๆ ทะเล แปซิฟิกทางตอนเหนือคลื่นไม่สูงมาก เมื่อผ่านบริเวณเส้นศูนย์สูตร บริเวณทะเลฟิลิปปินส์ อากาศที่ร้อนอบอ้าวที่เกิดจากการหมุนเวียนของลมในชั้นบรรยกาศ บวกกับความเหนียวที่มาจากเกลือทะเล ทำให้ไม่อยากออกไปข้างนอกเรือซักเท่าไหร่ และไม่มีสิ่งมีชีวิตให้สังเกตอีกด้วย ในทุกวันจึงเห็นบรรยากาศสีฟ้าเดิมๆ คือท้องฟ้ากับทะเล

ในการเดินทางอันยาวนาน ก็มาถึงวันเกิดของอิ้งค์ ปีนี้อิ้งค์อายุครบ 27 ปีบริบูรณ์ในเดือนเมษายน พอพี่ๆ คนเรือ รู้ว่าวันนี้วันเกิดเรา เขาจึงทำการเซอร์ไพร์สวันเกิดแบบง่ายๆ โดยแกะขนมเค้กมาเรียงวางกัน แล้วทุกคนก็ร้องเพลง Happy birthday ให้อิ้งค์ อย่างรวดเร็วแก้เขิน เป็นงานวันเกิดที่น่าจดจำมากที่ได้เป่าเค้กกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ในการเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับอิ้งค์ ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนแต่ละประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนเกาหลีใต้ อาหารการกินและภาษา ได้เจอเพื่อนจากหลากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สวีเดน จีน อินเดีย แคนาดา อเมริกา อิตาลี และ อังกฤษ เพื่อนนักวิจัยทุกคนเก่งมีความสามารถ และคอยช่วยเหลือกันตลอด ได้ความรู้จากกลุ่มวิจัยอื่นๆ ที่ทำวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา นักวิจัยส่วนใหญ่ ทำงานวิจัยทางด้าน Oceanography Glaciology และ Geophysics ดังนั้นในทุกครั้งที่มีการประชุมวิจัย เราได้รับความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและทำให้อิ้งค์รู้จักแอนตาร์กติกามากขึ้นกว่าเดิมมากๆ 

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่คอยช่วยเหลือ ขอบคุณ ผศ. ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล หัวหน้าโครงการ ผศ. ดร.ศิริมาศ โกมลจินดา ผศ. ดร.สุวิชา วรรณวิเชียร อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ. ดร.เดวิด รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงวช.-สวทช. N42A650868 ขอบคุณ ดร.อัจฉรา เสรีเพียรเลิศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ให้การสนับสนุน ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคนในห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ มช.-ม.มหิดล ขอบคุณ เรือเอก ธีรศักดิ์ ปัญญาภีรวัฒน์ และ คุณกชนิภา ไชยน้อย ที่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำเสมอๆ ขอขอบพระคุณ คุณชานนท์ สุขุมเดชะ กระทรวงการต่างประเทศที่ช่วยเหลือในการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ และขอขอบคุณพี่ๆ คนไทยในไครต์เชิร์ตนิวซีแลนด์พี่ฝนและพี่จินที่ให้ความช่วยเหลือตลอดทริป ขอบคุณค่ะ🙏