Summer 2019

UWRF Summer School 2019

สำหรับใน summer 2019 นี้ แอดมินมีบทสัมภาษณ์สองสาวไทยที่ภายนอกดูธรรมดา ๆ แต่ต้องบอกว่าความสามารถไม่ธรรมดาเลยค่ะ มาดูกันค่ะว่าสองสาวนี้เป็นใครและไปทำอะไรกันมาบ้างค่ะ
******************************************
Q1: สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักกันหน่อยค่ะ
อิ้งค์:สวัสดีค่ะ อิ้งค์ค่ะ อัจฉราภรณ์ ผักหวาน
กิ๊ฟ:สวัสดีค่ะ กิ๊ฟ ญานี ต่างใจ ค่ะ
พวกเราเป็นนักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจศึกษางานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics) และวิทยาศาสตร์ขั้วโลก (Polar Science) ซึ่งมีอาจารย์วราภรณ์ นันทิยกุล (อ.ฝน) อาจารย์ประจำหลักสูตรดาราศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่ปรึกษาหลัก ซึ่งงานวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่นั้นเป็นงานวิจัยที่วางแผนในระยะยาวว่าจะเป็นงานในระดับบัณฑิตศึกษาด้วย งานวิจัยของกิ๊ฟเกี่ยวข้องกับงานวิเคราะห์ข้อมูลของ IceTop Tank ที่วางบนเรือตัดน้ำแข็ง Oden สัญชาติสวีเดน ซึ่งเดินทางจากไฮเซนเบิร์ก สวีเดน ไปยังทวีปแอนตาร์กติกา โดยอุปกรณ์ IceTop Tank ที่อยู่บนเรือ Oden นั้นประกอบด้วย photomultiplier ซึ่งเราจะเรียกว่า Digital Optical Module (DOM) จำนวน 4 อันถูกฟรีซอยู่ในน้ำแข็งภายในแท้งค์ทรงกระบอกหลักการแบบเดียวกับ IceTop Tank ที่ขั้วโลกใต้เลย เราจะวัดนิวตริโนผ่าน DOM เพื่อหาสเปกตรัมของรังสีคอสมิกจากกาแลกซี ส่วนอิงค์ทำโปรเจคของ Oden IceTop Tank เช่นกันค่ะแต่เป็นการสร้างแบบจำลองมอนติคาร์โล โดยใช้โปรแกรม Fluka เพื่อหา Yield function โดยปกติแล้วกลุ่มวิจัย IceCube collaboration เขาใช้โปรแกรม Geant 4 กัน แต่กลุ่มวิจัยเราถนัดเรื่อง Fluka มากกว่า เราก็เลือกที่จะใช้ Fluka ในการสร้างแบบจำลอง ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ท้าทายดีที่ได้เริ่มทำโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับ IceCube โดยมีฐานของสิ่งที่เราถนัด ซึ่งโปรเจคนี้ต่างจากโปรเจคในระดับปริญญาตรีที่เคยทำพอสมควร ซึ่งงานวิจัยในระดับ ป.ตรี เราวิเคราะห์ข้อมูลของเครื่องตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรบนยอดดอยอินทนนท์ และสร้างแบบจำลอง Fluka ของเครื่องตรวจวัดนิวตรอนบนเรือ (ช้างแวน) โปรเจคที่กำลังทำในปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นก้าวเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความร่วมมือของ IceCube Collaboration ที่มีเครื่องตรวจวัดขนาดใหญ่ที่ขั้วโลกใต้ สักวันหนึ่งคงจะดีนะคะหากเราได้เห็นประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Full collaboration ของ IceCube ที่มีความเข้มแข็งทางด้านงานวิจัยระดับโลกเกี่ยวกับรังสีคอสมิกของนิวตริโนที่มีพลังงานสูงมากระดับ PeV ถึง EeV และเราเป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ที่ร่วมผลักดันความร่วมมือนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

Q2: ปีนี้ได้มาทำอะไรที่อเมริกาคะ?
อิ้งค์: ในปี 2019 เราได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานวิจัยกับกลุ่มวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ University of Wisconsin-River Falls ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในโครงการมีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 10 นักศึกษาทุกคนทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ IceCube Neutrino Observe, South pole Neutron monitor และ Latitude Survey นอกจากการทำงานกับวิจัยแล้ว พวกเราได้มีโอกาสเข้าร่วมวิจัยเชิงปฏิบัติการ IceCube Boot camp 2019 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มวิจัย IceCube ที่ University of Wisconsin-Madison นับว่าเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับพวกเราในการได้มาศึกษาวิจัยในครั้งนี้

Q3: มีอุปสรรคอะไรบ้างไหม?
กิ๊ฟ:ก่อนจะเดินทางมาที่อเมริกาได้เจออุปสรรคในการทำวีซ่าค่ะ เนื่องจากวันเวลาในการนัดทำวีซ่าถูกเลื่อนกระทันหัน และถูกเลื่อนมาสัมภาษณ์ก่อนวันเดินทางเพียง 1 วัน (แจ้งทำแบบเร่งด่วนแล้ว) ตอนนั้นกังวลมากเพราะถ้าไม่ทันก็จะไม่ได้เข้าร่วม IceCube Bootcamp ที่อยากจะเข้าร่วมมาก ๆ แต่สุดท้ายก็สามารถหาทางออกและเดินทางมาเข้าร่วมได้ทัน

Q4: ได้อะไรจากการมาอเมริกาครั้งนี้
กิ๊ฟ:สำหรับการมาต่างประเทศครั้งนี้ทำให้กิ๊ฟได้ออกจาก comfort zone ได้ทำอะไรมากมาย มีความกล้าที่จะพูดคุยกับชาวต่างชาติมากขึ้น ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆหลายอย่าง
อิ้งค์: ในการมาอเมริกาครั้งแรกนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีค่ะ ทุกสิ่งรอบตัวดูน่าตื่นเต้นไปหมด นอกจากการได้ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยแล้ว เรายังได้ทำอะไรหลายๆอย่างที่คาดไม่ถึงด้วยค่ะ เช่น ขับรถผ่านทอนาโด และ ขับ ATV ตกไหล่ทางตอนช่วงวันหยุดพักผ่อน

กิ๊ฟและอิงค์กำลังสอนภาษาไทยให้กับน้อง ๆ ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่มีฐานะยากจน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเอเชีย ในภาพนี้มีนักเรียนที่เป็นคนไทยมากกว่า 10 คน แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เข้าร่วมโปรแกรม Upword ฺBound ที่จัดขึ้นโดย University of Wisconsin-River Falls ประเทศสหรัฐอเมริกา

Q5: อยากจะบอกอะไรกับคนที่อ่านบทสัมภาษณ์อยู่ / มีอะไรฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากทำแบบเราบ้าง
กิ๊ฟ: ทุกปัญหานั้นมีทางออก ถ้าเราไม่ท้อแท้ อดทนและพยายามทำมันให้ออกมาดีที่สุด แม้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาแต่ละครั้งจะต่างกัน แต่กิ๊ฟเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำมันให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีแน่นอนค่ะ อย่างน้อยผลลัพธ์นั้นเราก็ได้ทำมันอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อความฝัน เราต้องพุ่งชนกับปัญหาค่ะ 😊
อิ้งค์: สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิจัยของเรานะคะ สามารถเข้ามาสอบถามได้ในช่องทางนี้นะคะ Message

สุดท้ายนี้ พวกเราต้องขอขอบคุณ Prof. James Madsen และ Assoc. Prof. Dr. Suruj Seunarine ที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลา 2 เดือน ขอขอบคุณอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ที่ให้การสนับสนุนให้พวกเราได้มีโอกาสมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางด้านงานวิจัยดาราศาสตร์ค่ะ ขอบคุณอ.ฝน ที่คอยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องวิจัยและเรื่องส่วนตัว และคอยดูแลเรื่องทุนต่าง ๆ และขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกที่ มช ที่คอยให้กำลังใจมาโดยตลอด
******************************************
เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทสัมภาษณ์ สำหรับน้อง ๆ ที่อ่านอยู่แล้วสนใจทำวิจัยด้านนี้ ไม่ว่าน้องจะเป็นใคร เรียนอยู่ระดับไหน ก็สามารถติดต่อมาที่ ได้ตลอดเวลานะคะ  Message ไม่แน่ว่าวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะเป็นคนค้นพบสิ่งสำคัญให้กับมนุษยชาติก็ได้ค่ะ