Summer 2018

UWRF Summer School 2018

แอดมินเชื่อว่าตอนเด็ก ๆ ทุกคนเคยมีความฝัน ความฝันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ความฝันไม่มีถูกผิด สิ่งที่สำคัญก็คือ #ความฝันต้องทำให้เป็นความจริงถึงจะมีความหมาย วันนี้แอดมินมีเรื่องราวของนักศึกษาคนหนึ่งจะมาแชร์ความฝันของเขาให้พวกเราได้อ่านกัน แอดมินหวังว่าเมื่อได้อ่านเรื่องของเขาแล้ว ใครที่เคยมีความฝัน หรือมีความฝันแต่ลังเลที่จะทำตามความฝัน จะก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งความฝัน เพราะการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อความฝันเป็นก้าวแรกของการทำความฝันให้เป็นจริง แอดมินขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังวิ่งตามความฝันของตัวเองจงประสบความสำเร็จ แม้หนทางสู่ความฝันจะยาวไกล แต่ถ้าเราไม่หยุดเดิน สักวันนึงเราจะไปถึงความฝันอย่างแน่นอน และนี่คือบทความจาก นายหาญณรงค์ จันทเลิศ หรือ “น้องนุ๊ก” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล
**************************************

หลายคนย่อมต้องมีความฝัน บางคนอยากเป็นคนที่มีชื่อเสียง บางคนอยากร่ำรวย บางคนอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ความฝันของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย การจะทำให้ความฝันของเรานั้นเป็นจริง บางคราวอาจจะไม่ง่ายเสมอไป หากความฝันที่เราฝันเอาไว้กลายเป็นจริงขึ้นมา มันน่าจะมีความสุขมากมาย วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องความฝันของผมให้ทุกคนฟังกัน

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ปัจจุบันผมกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แน่นอนว่าหากพูดถึงความฝันของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องมีมากมายแตกต่างกันไป บางคนอยากคิดค้นงานวิจัยจนได้รับรางวัลโนเบล บางคนอยากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ เส้นการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของผมเริ่มต้นโดย การเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับรังสีคอสมิก (รังสีที่มาจากอวกาศ) กับ Professor David Ruffolo ตั้งแต่ผมเรียนชั้นปีที่ 1 ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราเริ่มทำวิจัยตั้งแต่ปี 1 นั้นความรู้พื้นฐานของเรายังไม่เพียงพอต่อการทำวิจัย แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ ก็คือ เก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้จากการทำวิจัย ตั้งคำถามและลองหาคำตอบ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ควรให้กระทบกับการเรียน เพราะเราอย่าลืมว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เราเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ ดังนั้นการแบ่งเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ต่อมาเมื่อผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ผมได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยสาขาดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าร่วมสัมมนาทางด้านงานวิจัยแอนตาร์ติกาของกลุ่มวิจัย IceCube ที่ตั้งอยู่ที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งสัมมนาในครั้งนี้จัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมได้เดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพไปยังเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้เดินทางโดยเครื่องบิน มันเป็นหนึ่งในความฝันของผม มันทำให้ผมตื่นเต้นมากกับการเดินทางครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินครั้งแรกในชีวิตของผม แน่นอนว่าย่อมต้องมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะผมเดินทางคนเดียว แต่พอผมเดินทางมาถึงเชียงใหม่ ผมกลับรู้สึกมีความสุขเหลือเกินที่อย่างน้อยเราก็ได้ทำความฝันให้เป็นจริงได้แล้ว

ผมได้มีโอกาสรู้จักกับ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล อาจารย์จากสาขาวิชาดาราศาตร์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้ากลุ่มวิจัยด้าน Polar research และเป็นแอดมินของ Facebook page: AAART2017 ตั้งแต่สมัยผมอยู่ชั้นปี 1 ซึ่งได้ชักชวนให้ผมมาเข้าร่วมสัมมนาพิเศษในครั้งนี้ ผู้บรรยายในสัมมนานี้ คือ Prof. James Madsen จากภาควิชาฟิสิกส์ University of Wisconsin-River Falls ผู้ซึ่งเป็น Chair Associate Director for Education and Outreach ของกลุ่มวิจัย IceCube หลังจากสัมมนาเสร็จสิ้น ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ Prof. James Madsen (หรือ Dr.Madsen) ซึ่ง Dr. Madsen เป็นคนที่ใจดี พูดคุยกับผมอย่างเป็นกันเอง ไม่ถือตัว มันทำให้ผมมีความสุขมากที่ได้พูดคุยกับนักฟิสิกส์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความฝันของผม โดยประเด็นหลักที่ได้พูดคุย ก็คือ งานวิจัยที่ผมทำมาตั้งแต่สมัยผมอยู่ชั้นปีที่ 1 ซึ่งโดยรวม Dr.Madsen ก็พึงพอใจและได้ชักชวนให้ผมไปเข้าร่วมวิจัยในช่วงฤดูร้อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าโอกาสแบบนี้ ไม่ได้มีบ่อยครั้ง ความฝันของผมที่จะได้เดินทางออกนอกประเทศได้กลายเป็นจริงแล้ว

การได้เดินทางโดยเครื่องบิน การได้พูดคุยกับนักฟิสิกส์ที่ประสบความสำเร็จ และการได้เดินทางไปทำวิจัยที่ต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในหลายๆ ความฝันบนเส้นทางการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของผมที่ได้กลายเป็นความจริงแล้ว ยังคงมีความฝันอีกมากมายที่ผมอยากทำให้สำเร็จ สำหรับคนที่กำลังมีความฝัน ผมอยากจะให้คุณลองพยายามทำให้ถึงที่สุด ทุ่มเทเอาใจใส่ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเสียใจกับความฝันของคุณเพราะอย่างน้อยคุณก็ได้ทำเต็มที่แล้ว ผมอยากให้คุณลองก้าวข้ามความกลัวที่มี แล้วความฝันของคุณอาจจะกลายเป็นจริงในสักวันหนึ่ง

บทความนี้ ผมเขียนขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่เป็นครั้งแรก เราอาจจะมีความกลัวเกิดขึ้น เชื่อเถอะครับ ถ้าคุณก้าวข้ามจุดนั้นมา ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลจากคุณ และสำหรับคนที่กำลังศึกษาวิทยาศาสตร์ ถ้าเราทุ่มเทและรักในวิทยาศาสตร์ คุณก็จะประสบความสำเร็จอย่างผม ถึงแม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ก็ตาม