Shanghai

Annual mission doing every year

การเดินทางไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ส่วนใหญ่เป็นภารกิจของทีมติดตั้งเครื่องมือของ ช้างแวน (Changvan) นำทีมโดยเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ จากสาขาวิชาดาราศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นายเอกราช สมบูรณ์ ซึ่งเดินทางพร้อมกันกับช่างเทคนิคจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

นายเอกราช สมบูรณ์ (ซ้ายล่าง) และช่างเทคนิคจาก สดร. จำนวน 4 คน กำลังรับประทานอาหารจีนที่เซี่ยงไฮ้

ในทุกปีช่วงระยะเวลาประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสำรวจการตัดข้ามละติจูดของกลุ่มวิจัย ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนในแถบแอนตาร์กติกา กลุ่มวิจัยจะต้องวางแผนเป็นประจำทุกปีเพื่อส่งช้างแวนจาก จ.เชียงใหม่ ไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ เราจำเป็นต้องถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปออกก่อนขนส่งทางเรือ เช่น คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ, ตัวรับจีพีเอสที่บันทึกค่าละติจูดและลองจิจูด, ระบบคอมพิวเตอร์, เครื่องดูดความชื้น เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ไปรอยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้เพื่อดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือตัดน้ำแข็งพร้อมสำหรับการทดลองไปยังแถบแอนตาร์กติกา เรามีอุปกรณ์ช้างแวนจำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้แรกเป็นตู้ที่พร้อมใช้งาน แต่ตู้ที่สองจำเป็นต้องมีการปรับสภาพและติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอนภายในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พร้อมใช้งาน

รถเครนกำลังยกช้างแวนเพื่อส่งทางเรือไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ เราจำเป็นต้องมีนักวิจัยในการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของหัววัด และระบบ data processing ซึ่งในปี ค.ศ. 2018 และ 2019 Prof. Paul Evenson เป็นผู้เดินทางไปสมทบกับทีมเจ้าหน้าที่ติดตั้งของ มช. และ สดร.

นายเอกราชสมบูรณ์ (คนที่สองนับจากซ้ายมือ), Prof. Paul Evenson จากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (คนที่สามนับจากทางซ้ายมือ), นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักวิจัยไทยจาก สดร. ผู้ที่จะเดินทางไปกับเรือตัดน้ำแข็ง Xue Long ไปยังแอนตาร์กติกา และทีมช่างจาก สดร.