เกี่ยวกับเรา

หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาหลักทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่เล็งเห็น ความสำคัญของวิทยาการทางด้านดาราศาสตร์ ได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมเพื่อเป็นสถาบันการ ศึกษาทางภาคเหนือที่มีความเป็น เลิศทางวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ โดยได้จัดให้มีการ เรียนการสอนในสาขาดาราศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิต ศึกษา มีการวิจัยทางด้าน ดาราศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การจัดบริการแก่ ชุมชนทางด้านดาราศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ภาควิชาฟิสิกส์โดยความเห็นชอบของคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุมัติให้มีการเรียนการสอนทางด้านดาราศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร คือ Dr. K.P. Tritton และ Mrs.S.B. Tritton ซึ่งปัจจุบันเป็นนักดาราศาสตร์อยู่ที่ Royal Greenwich Observatory ประเทศสหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านได้วางรากฐานทางการเรียนการสอนทางด้านดาราศาสตร์และ ฝึกฝนคณาจารย์ที่อยู่ในทีมดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตลอดจนส่ง คณาจารย์ไปศึกษาต่อทางสาขาดาราศาสตร์ ณ ต่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสร้างหอดูดาวขึ้น ณ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๒ บนวนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย มีอาณาบริเวณ 4.5 ไร่ ตั้งอยู่ ณ เส้นรุ้งที่ ๑๘ องศา ๔๗ ลิปดา ๑๙.๕ ฟิลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ ๙๘ องศา ๕๕ ลิปดา ๒๙.๙ ฟิลิปดา ตะวันออก ที่ระดับความสูง ๗๘๙ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และรู้จักกันทั่วไปในนามของ “หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ณ หอดูดาวแห่งนี้ ได้ติดตั้ง กล้องดูดาวแบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๖ นิ้ว ชนิดแคสสิเกรน ซึ่งผลิตจากประเทศสหราชอาณาจักร งบประมาณในการสร้างหอดูดาวและกล้องดูดาวในครั้งนั้น ได้รับงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณที่บริจาคโดยกองสลากกินแบ่งรัฐบาล
หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ของประเทศ ไทย ซึ่งกำลังมีการพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อพัฒนาเป็นหอดูดาวระดับสากลและดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบภาคพื้นเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังมีหอดูดาวขนาดใหญ่เป็นจำนวนน้อย แต่ภูมิภาคแถบนี้เป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งบนพื้นโลกในการสังเกตการณ์ทาง ดาราศาสตร์ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงอาจพัฒนาเป็นหอดูดาวที่สามารถจัดกิจกรรมด้านการ เรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการต่อชุมชนในระดับประเทศและนานาชาติได้

นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ เสด็จเยี่ยมชมกิจการของหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายครั้ง ซึ่งบุคลากรของหอดูดาวได้จัดถวายคำบรรยายและจัดให้ทอดพระเนตรกล้องดูดาวของ หอดูดาว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน นามหอดูดาวแห่งนี้ว่า “หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”


ปัจจุบันหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกล้องดูดาวและอุปกรณ์อันทันสมัยมากมาย เพื่อใช้ทางด้านการจัดการเรียนการสอนมีการเรียนการสอน ในสาขาดาราศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา มีการวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยมีอุปกรณ์หลักคือ กล้องดูดาวแบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐ นิ้ว (๐.๕ เมตร) ชนิด ริชชี-เครเทียน พร้อมระบบบันทึกสัญญาณทางอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย เช่น เครื่องโฟโต อิเลกตริก โฟโตมิเตอร์ (Photoelectric Photometer), เครื่อง ซีซีดี โฟโต มิเตอร์ (CCD Photometer) และ เครื่อง ซีซีดี สเปกโทรกราฟ (CCD Spectrograph)พร้อมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อันทันสมัย ซึ่งเป็นกล้องดูดาวที่มีประสิทธิภาพและขนาดใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกล้องดูดาวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖ นิ้ว, ๑๑ นิ้ว, ๘ นิ้ว, ๕ นิ้ว, ๔ นิ้ว, ๓ นิ้ว และ ๒ นิ้ว

หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการบริการทางวิชาการแก่ชุมชนมาตลอดระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ทั้งที่หอดูดาวและนอกสถานที่ ช่วงฤดูหนาวในแต่ละปีจะมีช่วงอากาศดี ปราศจากเมฆหมอก เหมาะสมมากในการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ จะมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศมาขอใช้บริการของหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นจำนวน มาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งกิจกรรมมีตั้งแต่การให้ความรู้ พื้นฐานทางดาราศาสตร์โดยวิทยากรจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสอนให้สังเกตกลุ่มดาวต่าง ๆ การชมวิดิทัศน์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางด้านดาราศาสตร์ ตลอดจนการดูดาวและวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่นหมอกเพลิง กระจุกดาว ดาราจักร ฯลฯ ผ่านกล้องดูดาว ขนาดต่าง ๆ ของหอดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักดาราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเยี่ยมชมและร่วมทำวิจัย ทางดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้ นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับนัก ดาราศาสตร์ของหอดูดาวยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการสนับสนุนจากสำนัก งานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ และ National Natural Science Foundation of China ทำการวิจัย เรื่อง คุณสมบัติทางกายภาพและการวิวัฒนาการของระบบดาวคู่แบบเกือบแตะกันบางระบบ
หอ ดูดาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ของประเทศ ไทย และยังต้องพัฒนาต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้มีความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์และบุคลากร ตลอดจนเทคโนโลยีอันทันสมัยต่างๆ ในการให้ความรู้ทุกระดับ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ ตลอดจนความรู้ชั้นสูงทางด้านดาราศาสตร์ เพื่อพัฒนาเป็นหอดูดาวระดับสากลและดีที่สุดแห่งหนึ่งในแถบภาคพื้นเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภูมิภาคแถบนี้นับว่าเป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งบนพื้นโลกในการสังเกต การณ์ทางดาราศาสตร์ และบรรลุเป้าหมายในการบริการความรู้ทางดาราศาสตร์แก่ชุมชนอย่างมี ประสิทธิภาพทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยชั้นสูงทางดาราศาสตร์ ในระดับประเทศและนานาชาติได้