ออโรราของโลก” หรือ “แสงเหนือ” (Aurora Borealis; Northern light) “แสงใต้” (Aurora Australis; Southern light) มีดวงอาทิตย์เป็นแหล่งที่มาของอนุภาคมีประจุพลังงานสูง อนุภาคเหล่านี้ที่มาพร้อมสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์จะเดินทางผ่านอวกาศจนเมื่อมาถึงโลกซึ่งก็มีสนามแม่เหล็กคอยปกป้องอยู่ อนุภาคบางส่วนก็สามารถที่จะเข้ามายังโลกผ่านเส้นสนามแม่เหล็กโลกไปยังขั้วเหนือและใต้ เมื่อเข้ามาแล้วก็จะชนกับก๊าซในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือออกซิเจนและไนโตรเจน จนทำให้เกิดการเรืองแสงขึ้นและโบกสะบัดเหมือนม่าน บางครั้งเข้มแล้วก็สามารถจางได้ฉับพลัน ออโรราเกิดได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน โดยปกติเรามักจะเห็นแสงออโรราในเวลากลางคืนเนื่องจากไม่มีการรบกวนจากแสงอาทิตย์บริเวณที่สามารถเห็นแสงออโรราด้วยตาเปล่าจะอยู่ที่ประมาณละติจูด 61°-73° และโดยส่วนมากโอกาสที่จะเห็นเยอะก็จะเป็นช่วงตุลาคมจนถึงเมษายนของทุกปี นอกจากสีเขียวเรืองแสงที่มักจะเห็นบ่อยที่สุด ยังมีสีแดงที่เกิดบ่อยรองลงมา ตามด้วยสีชมพูม่วง สีน้ำเงิน สีเหลือง และสีอื่นๆ อีกด้วย แต่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้งรวมถึงความสูงที่มองเห็นก็ต่างกันด้วยเช่นกัน
การศึกษาออโรราของโลกนั้น สามารถทำได้หลายวิธีทั่งสังเกตการณ์บนพื้นโลกและจากยานอวกาศรวมถึงดาวเทียม ซึ่งก็จะมีทั้งการบันทึกภาพขณะเกิดปรากฏการณ์รวมทั้งการตรวจวัดตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สนามแม่เหล็ก ความเร็วอนุภาค เป็นต้น การถ่ายภาพออโรราบนพื้นโลกโดยตรงที่นิยมกันมักจะใช้กล้อง All Sky Camera (ASC) ส่วนตัวอย่างการสังเกตการณ์ออโรราจากอวกาศก็จะใช้ยานอวกาศที่โคจรตำแหน่งต่างๆ เก็บข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ ทั้งนี้ ก็เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาประกอบกันเพื่อให้มีความสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มขึ้น